Uncategorized

8 สนามฟุตบอลสุดอลังการ ในฟุตบอลโลก 2022

อีกเพียงแค่ไม่ถึง 6 เดือน มหกรรมฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ จะลั่นกลองเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ โดยการแข่งขันทัวร์นาเมนต์นี้ จะใช้สนามสุดหรูที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วจำนวน 8 แห่งเป็นสังเวียนโม่แข้ง

สเตเดี้ยมที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ ได้รับกำลังเงินมหาศาลเนรมิตขึ้นมาแบบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยยึดโยงกับวัฒนธรรมและประเพณีอันโดดเด่นของตะวันออกกลาง

ตอนที่ กาตาร์ ได้รับเลือกให้จัดทัวร์นาเมนต์อันดับ 1 ของโลก หลายต่อหลายคนเป็นกังวลเรื่องสภาพความร้อนระอุกลางทะเลทราย ซึ่งทำให้ ฟีฟ่า ตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันมาจัดกันในช่วงปลายปีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดี สนามที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เหล่านี้ ติดแอร์ทำความเย็นให้กับบรรดากองเชียร์และนักกีฬาอย่างครบครัน ไม่ต้องวิตกกับปัญหาเรื่องสภาพอากาศอีกต่อไป

จะว่าด้วยข้อจำกัดเรื่องขนาดของประเทศก็ว่าได้ การแข่งขัน เวิลด์ คัพ หนนี้ ใช้สนามเพียง 8 แห่งเท่านั้น ถือว่าน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปรับระบบมาแข่งขันกัน 16 ทีม ตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1978 ที่อาร์เจนตินา แต่เรื่องดังกล่าวอาจเป็นเรื่องดีสำหรับแฟน ๆ ที่สามารถเดินทางไปรับชมเกมการแข่งขันแบบจุใจ เพราะไม่มีสนามแห่งไหนสร้างไกลเกินกว่า 27 ไมล์ เมื่อนับจากใจกลางกรุงโดฮา หรือแค่ 43 กิโลเมตร เพียงเท่านั้น

จุดเด่นอีกอย่างที่ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่คือแต่ละสนามจะใช้พลังงานจากโซลาร์ฟาร์ม หรือโรงงานผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่มากพอที่จะทำความเย็นสู้กับอากาศร้อนกลางทะเลทราย นอกจากนั้น ยังมีสนามบางแห่งที่มีระบบทำความเย็นกลางแจ้งอีกด้วย

เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลงในคืนก่อนวันคริสต์มาส มีเพียงสนามแห่งเดียวที่จะยังคงถูกใช้เป็นรังเหย้าของทีมฟุตบอลภายในประเทศ มี 1 สนามที่จะถูกรื้อออกไป ขณะที่อีก 6 แห่งนั้น จะมีการรื้อเก้าอี้กว่าครึ่งนำไปใช้บริจาคให้กับประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

ต้องยอมรับว่า การแข่งขันฟุตบอลโลก ที่ตะวันออกกลางหนนี้ อาจเป็นการได้สิทธิ์ที่แลกมาด้วยความอื้อฉาวมากมาย จนทำให้บรรดาบิ๊กฟีฟ่า ในอดีต ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เป็นว่าเล่น นอกจากนั้น ยังมีการโจมตีอย่างหนักเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องการใช้แรงงาน ที่มีหลายชาติ แสดงความกังวลและถึงขนาดขู่ว่าอาจไม่ลงเตะ โดยหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดี้ยนของอังกฤษ เคยรายงานว่า มีคนงานจากบังกลาเทศ, อินเดีย, ปากีสถาน, เนปาล และศรีลังกา เสียชีวิตมากกว่า 6,500 คน ระหว่างก่อสร้างสนามฟุตบอลโลก 2022 ระหว่างปี 2010-2020

ทว่า เมื่อแฟน ๆ ได้เห็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นสนามสุดสวยด้านล่างแล้ว ทุกคนคงเชื่อได้อย่างเต็มใจว่า “เงิน” สามารถเนรมิตทุกอย่าง ให้สมบูรณ์พร้อมจริง ๆ

ลูเซล สเตเดี้ยม

ความจุ 80,000 ที่นั่ง ตั้งอยู่ห่างจากกลางกรุงโดฮา 10 ไมล์ ออกแบบโดยบริษัทฟอสเตอร์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ ใช้แข่งขัน 10 เกม รวมถึงนัดชิงชนะเลิศ

สนามเด่นที่สุดของทัวร์นาเมนต์ ซึ่งจะจัดการแข่งขันทั้งพิธีเปิด และเกมนัดสุดท้าย รวมถึงแมตช์สำคัญ ๆ อื่น ๆ อีกมากมาย

สเตเดี้ยมแห่งนี้เพิ่งเริ่มเปิดใช้งานในปีนี้เอง เนื่องจากสร้างเสร็จช้ากว่ากำหนดเยอะมาก โดยการออกแบบนั้น ได้แรงบันดาลใจมาจาก แสงและเงาอันเป็นเอกลักษณ์ของตะเกียงให้แสงสว่าง

เมื่อการแข่งขันจบลง ที่นั่งส่วนใหญ่จะถูกรื้อออกไปแล้วบริจาคให้กับประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ เพราะเมืองลูเซลที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเม็ดเงิน 33 พันล้านปอนด์นั้น ไม่ต้องการสนามฟุตบอลเป็นของตัวเองอีกต่อไปหลังจากปี 2022

สำหรับโครงสร้างอื่นนอกจากเก้าอี้ จะถูกนำมาใช้ในวัตถุประสงค์อื่น อย่างเช่นการทำพื้นที่ชุมชนที่มีร้านค้า, คาเฟ่, สนามกีฬา และสถานศึกษา รวมถึงคลินิกสุขภาพ

เกร็ดความรู้ : เริ่มต้นการวางแผนสร้างสนามแห่งนี้เมื่อปี 2014 ก่อนเริ่มต้นการก่อสร้างเมื่อ 11 เม.ย.2017 แต่เสร็จช้ากว่ากำหนดเดิมคือปี 2020

อัล ยานูบ สเตเดี้ยม

ความจุ 40,000 ที่นั่ง ตั้งอยู่ห่างจากกลางกรุงโดฮา 14 ไมล์ ออกแบบโดย เดม ซาฮา ฮาดิด ใช้แข่งขัน 7 นัด จนถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย

แต่เดิมถูกเรียกว่าสนาม อัล วัคราห์ สเตเดี้ยม โดยแรงบันดาลใจแห่งอนาคตที่ถูกออกแบบมาเป็นสนาม อัล ยานูบ นั้นได้มาจาก เรือโดว์ ซึ่งเป็นเรือโบราณตามแบบฉบับดั้งเดิมของกาตาร์ ที่เป็นเมืองท่าชายฝั่งมาช้านาน

โครงสร้างหลังคาที่เลื่อนเปิดปิดได้ และนวัตกรรมระบบทำความเย็นที่ยอดเยี่ยม จะทำให้สนามแห่งนี้สามารถจัดอีเวนท์ได้ตลอดทั้งปี แม้แต่ในช่วงที่ร้อนจัดตอนซัมเมอร์

สนามแห่งนี้มี เดม ซาฮา ฮาดิด สถาปนิกชาวบริติช-อิรัก ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่อปี 2016 ด้วยวัยเพียง 65 ปี เป็นผู้ออกแบบเอาไว้

ตอนที่เธอร่างโครงแบบของสนามครั้งแรกและมีการเปิดเผยออกมา ก็กลายเป็นไวรัลไปทันที เพราะมีหลายต่อหลายคนมองว่าเหมือนกับของลับของผู้หญิงเสียมากกว่า

ในตอนนั้น เดม ซาฮา โกรธมากที่งานชิ้นเอกของเธอถูกนำไปเปรียบเทียบกับอะไรแบบนั้น โดยเธอเคยบอกว่า “น่าละอายจริง ๆ ที่พวกเขาเอาไปเทียบกับอะไรไร้สาระแบบนั้น”

“พวกเขากำลังพร่ำบ่นอะไรกัน? ทุกอย่างที่มีรูมันคือช่องคลอดไปทั้งหมดเลยหรือ? น่าตลกจริงๆ”

สนามแห่งนี้ถูกสร้างเสร็จเป็นแห่งแรกเมื่อช่วง พ.ค.2019 โดยหลังจบการแข่งขันจะมีการนำเก้าอี้ 20,000 ตัว ออกไปบริจาคเช่นเดียวกับสนาม ลูเซล

เกร็ดความรู้ : หลังฟุตบอลโลก สนามแห่งนี้จะเป็นบ้านของ อัล-วัคราห์ สปอร์ตส์ คลับ ที่ย้ายมาจากสนาม ซาอูด บิน อับดุลราห์มาน สเตเดี้ยม และจะลดความจุเหลือ 20,000 ที่นั่ง

อัล เบต สเตเดี้ยม

ความจุ 60,000 ที่นั่ง ตั้งอยู่ห่างจากกลางกรุงโดฮา 27 ไมล์ ออกแบบโดย ดาร์ อัล-ฮานดาซาห์ ใช้แข่งขัน 8 นัด ซึ่งรวมถึงเกมเปิดสนามด้วย

หนึ่งในสนามที่ใหญ่ที่สุด อัล เบยต์ จะถูกใช้งานเป็นสังเวียนลูกหนังยาวไปจนถึงรอบรองชนะเลิศของการแข่งขันฟุตบอลโลก

สนามแห่งนี้ถูกออกแบบให้เป็นตัวแทนไมตรีจิตของชาวอาหรับ โดยมีโครงสร้างที่ละม้ายคล้ายกับเต้นท์ของอาหรับ ที่รู้จักกันดีในชื่อที่ว่า “เบต อัล ชาร์”

แม้อยู่ในเดือน พ.ย. แต่สภาพอากาศในกาตาร์ อาจมีความร้อนสูงถึง 30 องศาเซลเซียส แต่หลังคาที่สามารถเปิดปิดได้จะเป็นตัวกันความร้อนได้เป็นอย่างดี

นี่คือสนามที่ห่างไกลจากกรุงโดฮา มากที่สุดคือ 27 ไมล์ แต่หากแฟน ไม่อยากเดินทางไปไหนให้ไกล ที่นี่ก็มีโรงแรมหรู 5 ดาว พร้อมแหล่งช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ ไว้คอยดูดเงินนักท่องเที่ยวไปในตัว

เกร็ดความรู้ : สนามจะถูกปรับให้เหลือ 32,000 ที่นั่งโดยรื้อชั้นบนออกไปทั้งหมด พร้อมปรับปรุงเป็นโรงแรม 5 ดาว,ศูนย์การค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกกีฬาอื่น ๆ

อาหมัด บิน อาลี สเตเดี้ยม

ความจุ 40,000 ที่นั่ง ตั้งอยู่ห่างจากกลางกรุงโดฮา 14 ไมล์ ออกแบบโดย บริษัทแรมโบลล์ ใช้แข่งขัน 7 นัด จนถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย

สนามแห่งนี้ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อมาจาก อัล-รายยาน สเตเดี้ยม จะถูกใช้แข่งขันจนถึงรอบน็อคเอ้าท์ โดยจุดเด่นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของกาตาร์

ด้านหน้าของสนามมีแพทเทิร์นที่ซับซ้อนอันเป็นตัวแทนของกาตาร์ ที่พัฒนาจากชีวิตในป่าเขาจนมาถึงประวัตศาสตร์แห่งการค้า

สเตเดี้ยมแห่งนี้ตั้งอยู่ในทะเลทราย ซึ่งพื้นที่ต้อนรับและร้านค้าต่าง ๆ ภายนอกสนามจะถูกออกแบบให้คล้ายกับเนินทรายที่สวยงาม

สนามแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมือง อัล รายยาน โดยเป็นการสร้างทับสนามแห่งเก่า โดยวัสดุอุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาใช้นั้น เป็นการนำเอาชิ้นส่วนของสนาม อาหมัด บิน อาลี สเตเดี้ยม ที่ถูกรื้อออก นำกลับมาใช้ใหม่

เกร็ดความรู้ : สนาม อาหมัด บิน อาลี แห่งเก่าถูกทุบทิ้งเมื่อปี 2015 ก่อนสร้างใหม่ในปีถัดมา และมีการเปิดทดลองใช้สนามเมื่อ 18 ธ.ค.2020 ซึ่งเป็นวันชาติของกาตาร์

เอดูเคชั่น ซิตี้ สเตเดี้ยม

ความจุ 40,000 ที่นั่ง ตั้งอยู่ห่างจากกลางกรุงโดฮา 7 ไมล์ ออกแบบโดย บริษัท เอฟไอเอ เฟนวิค อิริบาร์เรน อาร์คิเทคต์ส ใช้แข่งขัน 8 นัด จนถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ

สังเวียนลูกหนังแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในเขตมหาวิทยาลัยหลายแห่งของมูลนิธิกาตาร์ ใกล้กับกลางกรุงโดฮา ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

จะมีการจัดเกมการแข่งขันจนถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายก่อนที่ เอดูเคชั่น ซิตี้ สเตเดี้ยม ถูกปรับไปเป็นสังเวียนเหย้าของทีมฟุตบอลหญิงกาตาร์ในอนาคต

สนามแห่งนี้มีรูปทรงเหลี่ยมของเพชร ทำให้มีชื่อเล่นว่า “เพชรในทะเลทราย” โดยได้รับการออกแบบให้เปล่งแสงระยิบระยับทั้งกลางวันและกลางคืน

สังเวียนแห่งนี้เคยถูกใช้งานในแมตช์สำคัญศึกฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ 2021 รอบชิงชนะเลิศ ระหว่าง บาเยิร์น มิวนิค กับ ทิเกรส มาแล้ว

เกร็ดความรู้ : สนามแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นจากวัสดุอุปกรณ์สีเขียว 20 เปอร์เซ็นต์ และเป็นหนึ่งในสนามที่มีความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก

อัล ธูมามา สเตเดี้ยม

ความจุ 40,000 ที่นั่ง ตั้งอยู่ห่างจากกลางกรุงโดฮา 8 ไมล์ ออกแบบโดย สำนักวิศวกรรมอาหรับ ใช้แข่งขัน 8 นัด จนถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ

สนามนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหมวกกาบิเยาะห์ของชายชาวอาหรับที่มักสวมใส่กันชินตา ซึ่งเมื่อเห็นรูปของสนามแห่งนี้ก็จะนึกถึงหมวกดังกล่าวโดยพลัน

นี่คือสังเวียนฟุตบอลโลกแห่งแรกที่ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวกาตาร์คือ อิบราฮิม อัล ไจดาห์

หลังเสร็จสิ้นภารกิจฟุตบอลโลก เก้าอี้ของสนามครึ่งหนึ่งจะถูกบริจาคให้ประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนั้นภายนอกของสนามยังมีมัสยิด และโรงแรมที่เปิดพร้อมใช้งานอีกต่างหาก

เกร็ดความรู้ : นี่คือหนึ่งในสนามที่องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวโจมตีว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดของการแข่งขันฟุตบอลโลก

สเตเดี้ยม 974

ความจุ 40,000 ที่นั่ง ตั้งอยู่ห่างจากกลางกรุงโดฮา 6 ไมล์ ออกแบบโดย เอฟไอเอ เฟนวิค อิริบาร์เรน อาร์คิเทคต์ส ใช้แข่งขัน 7 นัด จนถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย

เป็นครั้งแรกของการแข่งขันฟุตบอลโลก ที่สนามแห่งนี้ถูกสร้างจากตู้คอนเทนเนอร์ 974 ตู้ พร้อมโครงสร้างต่างๆ ที่สามารถรื้อถอนได้อย่างง่ายดายหลังจบศึกฟุตบอลโลก

สนามแห่งนี้จะมองเห็น โดฮา คอร์นิค และเส้นขอบฟ้าของเวสต์ เบย์ สถานที่พักผ่อนชายน้ำที่โดดเด่นยามค่ำคืน

เป้าหมายของการสร้างสนามคือใช้วัสดุอุปกรณ์น้อยชิ้นมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อลดของเสียและการปล่อยพลังงานออกมา

เกร็ดความรู้ : ตอนแรกสนามแห่งนี้มีชื่อว่า ราส อาบู อาบูด สเตเดี้ยม ก่อนมีการเปลี่ยนชื่อเป็น สเตเดี้ยม 974 เมื่อ พ.ย.2021

คาลิฟา อินเตอร์เนชั่นแนล สเตเดี้ยม

ความจุ 45,416 ที่นั่ง ตั้งอยู่ห่างจากกลางกรุงโดฮา 8 ไมล์ ใช้แข่งขัน 8 นัด รวมถึงนัดชิงอันดับ 3

นี่คือสนามเพียงแห่งเดียวที่เปิดใช้งานก่อนกาตาร์ ได้สิทธิ์จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกหนนี้ โดยสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 1976 และยังเคยได้รับเกียรติจัดการแข่งขัน เอเมียร์ คัพ เมื่อ พ.ค.ปีก่อน ต่อหน้ากองเชียร์มากกว่า 40,000 คน

นี่คือสนามกีฬาแห่งชาติของกาตาร์ นับตั้งแต่เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ และได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่เพื่อรองรับภารกิจเวิลด์ คัพ

ก่อนหน้านี้ สเตเดี้ยมถูกใช้งานในเอเชี่ยน เกมส์, กัลฟ์ คัพ และเอเอฟซี เอเชี่ยน คัพ รวมถึงจัดการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกของไอเอเอเอฟ เมื่อปี 2019

อังกฤษ เคยลงสนามดวลแข้งกับ บราซิล ที่สนามแห่งนี้ ในเกมกระชับมิตรเมื่อปี 2009 ขณะที่ลิเวอร์พูล ได้แชมป์สโมสรโลกที่สนามแห่งนี้ในอีก 10 ปีให้หลัง

เกร็ดความรู้ : หลังจากได้รับการประกาศให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 กาตาร์ มีแผนเพิ่มความจุสนามเป็น 68,000 ที่นั่ง แต่สุดท้ายแผนการดังกล่าวไม่ได้รับการอนุมัติ

Back to top button